Bitcoin (BTC) ทะยานขึ้นเหนือระดับ 111,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในวันวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม โดยทำราคาสูงสุดระหว่างวันที่ 111,867 ดอลลาร์สหรัฐบนแพลตฟอร์ม Binance ส่งผลให้มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลนี้สูงถึงประมาณ 2.22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด
การพุ่งขึ้นของราคาในครั้งนี้มีปัจจัยกระตุ้นหลายประการที่มาบรรจบกันอย่างลงตัว ทั้งจากกระแสเงินทุนไหลเข้า (inflow) จากสถาบัน การสะสม BTC ในงบดุลของบริษัทต่างๆ และความตึงเครียดทางเศรษฐกิจมหภาคที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ BTC สร้างสถิติสูงสุดใหม่ ในขณะที่นักลงทุนจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าแนวโน้มขาขึ้นนี้จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน
ปัจจัยที่ช่วยผลักดันราคา BTC สู่ ATH รอบนี้ มีดังนี้:
1. การสะสม Bitcoin ในงบดุลของบริษัท
นอกเหนือจากกระแสเงินทุนใน ETF บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเริ่มใช้ BTC เป็นสินทรัพย์สำรองหลัก (Strategic Reserve) ในงบดุลของตน ตัวอย่างเช่น Strategy และ Metaplanet ซึ่งซื้อ BTC มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีดีลมูลค่า $3.6 พันล้านของ Cantor Fitzgerald ที่จะนำ Twenty One Capital เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทนี้มี BTC จำนวนกว่า 42,000 เหรียญในงบดุล และได้รับการสนับสนุนจาก Tether, Bitfinex และ SoftBank
Strive Asset Management กำลังควบรวมกิจการกับ Asset Entities บน Nasdaq เพื่อจัดตั้งบริษัทที่เรียกตัวเองว่าเป็น “บริษัทจัดการสินทรัพย์สาธารณะรายแรกที่เน้น BTC” แถมพวกเขายังมีเงินทุนสำรองมูลค่า $1 พันล้านเพื่อซื้อบิทคอยน์เพิ่มอีกด้วย
ขณะเดียวกัน KULR Technology Group บริษัทเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ก็เพิ่งเพิ่ม BTC ในคลังของตนเป็น 800 BTC หลังซื้อเพิ่มอีก $9 ล้าน
อีกหลายบริษัทจากทั่วโลก เช่น Jetking Infotrain ของอินเดีย, DigiAsia Corp ของอินโดนีเซีย, Méliuz บริษัทฟินเทคในบราซิล, Bpifrance ธนาคารของรัฐในฝรั่งเศส และ Nakamoto Holdings ของ David Bailey ก็มีแผนการสะสม BTC ในงบดุลเช่นกัน
เมื่อบริษัทเหล่านี้รวมกัน ก็เกิดเป็นความต้องการซื้อ BTC ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และส่วนใหญ่ไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา
2. กระแสเงินไหลเข้าของ Spot Bitcoin ETF
ตั้งแต่ Wall Street ไปจนถึง BlackRock พบว่ากระแสเงินทุนใหม่หลั่งไหลเข้าสู่ Spot Bitcoin ETF ของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก Farside Investors ระบุว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคม มีการสมัครซื้อสุทธิ $607.1 ล้าน โดยในจำนวนนี้ $530.6 ล้าน ไหลเข้าสู่ iShares Bitcoin Trust (IBIT) ของ BlackRock ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น่าทึ่ง ส่งผลให้ยอดเงินสะสมในช่วง 11 วันที่ผ่านมาพุ่งสูงถึงกว่า $2.7 พันล้าน และยอดรวมสะสมของ ETF ทั้งหมดทะลุ $4.2 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับสินทรัพย์ที่มีอายุเพียง 6 เดือน
Nate Geraci ประธาน ETF Store โพสต์บน X (Twitter เดิม) ว่า “มีเงินไหลเข้า iShares Bitcoin ETF กว่า 500 ล้านดอลลาร์… รวมแล้วเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ภายในสัปดาห์เดียว! โดยมีเงินไหลเข้าสูงถึง 26 จาก 27 วันที่ผ่านมา รวมแล้วทะลุ 7 พันล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว และจากปริมาณการซื้อขายวันนี้ คาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นอีก”
Over $500mil into iShares Bitcoin ETF…
— Nate Geraci (@NateGeraci) May 22, 2025
Nearly $2bil just over past week or so.
Inflows 26 of past 27 days.
*$7+bil* in new $$$ overall.
Given trading volume today, expect these inflow numbers to increase.
ด้าน Eric Balchunas นักวิเคราะห์ของ Bloomberg เสริมว่า “วันนี้ IBIT มีปริมาณการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของ ETF นี้ ความต้องการ BTC ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ ETF ทั้งหมดมีการซื้อขายสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึงสองเท่า”
3. ปัจจัยมหภาค: พายุเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัว
นอกเหนือจาก 2 ปัจจัยที่ผ่านมา บรรยากาศเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันก็มีส่วนกระตุ้นราคา BTC อย่างมาก
พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นระยะยาวที่เคยมีอัตราผลตอบแทนเกือบเป็นศูนย์ ตอนนี้กลับไม่มีผู้สนใจซื้อแล้ว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร JGB อายุ 30 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 3.14% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ความเคลื่อนไหวนี้สร้างแรงกดดันต่อความสัมพันธ์ทางการเงินระหว่างโตเกียวและวอชิงตัน เพราะสถาบันการเงินญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด และนักวิเคราะห์เตือนว่า การขายพันธบัตรญี่ปุ่นอย่างไร้ระเบียบอาจบีบบังคับให้ต้องขายพันธบัตรสหรัฐฯ ในช่วงที่กระทรวงการคลังต้องรีไฟแนนซ์หนี้กว่า $8 ล้านล้านในปีนี้
ดัชนี WSJ Dollar Index ลดลงมากกว่า 10% จากจุดสูงสุดในเดือนมกราคม ประกอบกับข้อมูลของ CFTC ที่เผยให้เห็นว่า ขณะนี้มีสถานะ Short Position ในดอลลาร์มากที่สุดตั้งแต่กลางปี 2023 นักลงทุนจึงเริ่มมองหาทางเลือกใหม่แทนพันธบัตรรัฐบาล
Raoul Pal ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคกล่าวว่า “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งปกติจะไม่ใช่เรื่องดี…แต่เงินเฟ้อกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัญหาหลักคือสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรไม่เพียงพอ และเมื่ออัตราผลตอบแทนสูงเกินไป รัฐบาลก็มักจะใช้วิธีพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อแก้ปัญหา”
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องทั่วโลกก็สนับสนุนการเติบโตของ BTC เช่นกัน ตัวชี้วัด M2 ซึ่งรวมปริมาณเงินในสหรัฐฯ ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องทั่วโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 3-4% ตั้งแต่ต้นปี และราคาของ Bitcoin ก็มักจะตามหลังการเปลี่ยนแปลงของ M2 ราวสามเดือน
ซึ่งการพุ่งขึ้นครั้งล่าสุดนี้ก็เกิดขึ้นตรงตามคาดการณ์ที่นักวิเคราะห์คริปโต Kevin (@Kev_Capital_TA) โพสต์บน X ว่า “ดอลลาร์อ่อนตัวลง สภาพคล่องทั่วโลกเพิ่มขึ้น BTC ก็พุ่งสูงขึ้น”
We are watching BTC transform from a risk on asset to a risk off asset.
— Tushar Jain (@TusharJain_) May 22, 2025
Today we saw further proof that the government cannot cut the budget deficit. The market reacted by selling US treasuries, selling USD, selling equities, and buying BTC.
The transformation is not yet…
สำหรับนักลงทุนมือเก๋า หลายคนมองว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สะท้อนถึงพฤติกรรมของตลาดที่ลึกซึ้งขึ้น Tushar Jain ผู้ร่วมก่อตั้ง Multicoin Capital แสดงความคิดเห็นว่า “เรากำลังเห็นการเปลี่ยนแปลงของ BTC จากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (risk-on asset) ไปเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (risk-off asset)”
เขาเสริมว่า “วันนี้เราได้เห็นหลักฐานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไม่สามารถลดการขาดดุลงบประมาณได้ ตลาดจึงตอบสนองด้วยการขายพันธบัตรสหรัฐฯ ขายดอลลาร์ ขายหุ้น และซื้อ BTC แทน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงยังไม่สมบูรณ์ แต่จะเกิดขึ้นช้า ๆ และจู่ ๆ ก็จะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”
โดยสรุป ราคา BTC ได้สร้างสถิติสูงสุดใหม่ที่ 111,867 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า Bitcoin ETF การสะสมเหรียญโดยบริษัทต่างๆ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมหภาค
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง BTC จากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของเหรียญดังกล่าวในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัล